“เทริด” ภาพยนตร์เชิดชู...มโนราห์

หน้าแรก ย้อนกลับ “เทริด” ภาพยนตร์เชิดชู...มโนราห์

“เทริด” ภาพยนตร์เชิดชู...มโนราห์

ที่มา: https://rb.gy/ul7esy

“เทริด”

ภาพยนตร์เชิดชู...มโนราห์

จุฬาลักษณ์ ไชยดี

 

             ภาพยนตร์เรื่อง เทริด เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นผลงานกำกับของ เอกชัย ศรีวิชัย กำกับร่วมกับ ภาคภูมิ วงษ์จินดา ผู้กำกับภาพยนตร์แนวหน้าของเมืองไทย อีกทั้ง เอกชัย ศรีวิชัย ยังได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย 

        ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของภาคใต้ซึ่งก็คือ มโนราห์ โดยผ่านครอบครัวหนึ่งที่ทำอาชีพการแสดงมโนราห์มารุ่นสู่รุ่น นำแสดงโดย เอกชัย ศรีวิชัย (รับบท ศรัทธา), ไพศาล ขุนหนู (รับบท สิงห์), อัญชลิกา ณ พัทลุง (รับบท สายทิพย์), วินัย ไกรบุตร (รับบท อำนาจ) เป็นต้น 

             เนื้อเรื่องจะกล่าวถึง ศรัทธา มโนราห์ใหญ่เจ้าของคณะโนราเทพศรัทธา ที่อยากให้ สิงห์ ลูกชายของตน เป็นผู้สืบทอดคณะโนรา แต่สิงห์ที่ชื่นชอบการเล่นกีต้าร์และดนตรีสากลไม่อยากรับช่วงต่อ จึงทำให้ทั้งสองคนทะเลาะกัน สิงห์เผลอทำเทริดตกจนหัก และหนีออกจากบ้านไป

 

ที่มา: https://rb.gy/ul7esy

 

        หลังจากที่สิงห์หนีออกจากบ้านก็ได้ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกกับเพื่อนหาเงินเลี้ยงตัวเอง จนบังเอิญไปเจอกับ สายทิพย์ ลูกสาวคณะโนราสายทิพย์ ทั้งสองมีความรู้สึกที่ดีต่อกันจนเกิดเป็นความรัก แต่อุปสรรคก็เข้ามาถาโถมสิงห์ ไม่ว่าจะ ‘ครูหมอโนราห์’ ที่โกรธสิงห์เพราะทำเทริดหัก จึงหมายจะเอาชีวิตสิงห์ให้ได้  ‘พ่อศรัทธา’ ที่ป่วยมีอาการตาใกล้จะบอดเต็มที อีกทั้ง ‘ปราบ’ เป็นคู่ดูตัวที่ ‘ดวงใจ’ แม่ของสายทิพย์หมั้นหมายไว้ให้สายทิพย์ไม่พอใจสิงห์ ที่สิงห์แย่งสายทิพย์ไปจากตน สิงห์จะฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่นั้น สามารถรับชมเรื่องราวทั้งหมดได้ในภาพยนตร์เรื่อง เทริด 

 

ที่มา: https://rb.gy/ul7esy

 

     แน่นอนว่าสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อถึงวัฒนธรรมใต้ก็คือ มโนราห์ และสิ่งที่ผู้คนทั่วไปหาชมได้ยาก แต่ เอกชัย ศรีวิชัย ได้นำมาสอดแทรกในเนื้อเรื่องด้วยก็คือ การเข้าทรง “ครูหมอโนรา” หรือจะเรียกตามคนใต้ว่า “ครูหมอตายาย” เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของคนใต้ว่า เป็นบรรพบุรุษโนราหรือครูโนรา ที่คอยดูแลลูกหลานโนรา คนที่รำโนราสวย รำเก่ง จะเชื่อกันว่ามีครูหมอโนราที่ขลังมาก แต่ถ้าหากว่า ทำผิดจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับมโนราห์ เช่น เดินข้ามเทริด ทำเทริดหัก หลบหลู่บรรพบุรุษโนรา ฯลฯ ก็จะถูกครูหมอโนราหมายเอาชีวิต ดังในภาพยนตร์ที่สิงห์ทำเทริดหัก ทำให้ครูหมอโนราโกรธมาก จึงเข้าประทับทรงและบอกว่าจะเอาชีวิตสิงห์ให้ได้ หากทำถูกจารีตประเพณีถูกต้อง เคารพนับถือครูหมอโนรา ไม่หลบหลู่ท่าน ก็สามารถบนบานขอพรในเรื่องต่าง ๆ ได้เช่นกัน และถ้าเรื่องที่ขอพรสำเร็จลุล่วง ก็ต้องมาแก้บนตามที่บนไว้เช่นกัน ส่วนใหญ่ก็จะแก้บนด้วยการรำมโนราห์ หรือถวายหัวหมู เป็นต้น 

        ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเนื้อเรื่องผ่านความทรงจำของตัวละครที่ชื่อว่า ครูศรัทธา ณ ปัจจุบันหลังจากที่ตนเองผันตัวมาเป็นครูสอนมโนราห์ให้กับนักเรียน ได้หวนนึกถึงอดีตและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดภายในภาพยนตร์ให้นักเรียนฟัง เมื่อเล่าถึงตอนจบในอดีตก็ย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน  ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอแนวคิดความขัดแย้งของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ด้านการสืบสานวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เห็นภาพและเกิดกระบวนการคิดทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย สอดคล้องกับปัจจุบันที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะไม่สานต่อวัฒนธรรมของตนเอง แต่ก็ยอมโอนอ่อนและคลี่คลายลงได้ แม้นภาพยนตร์เรื่อง เทริด จะจบลงด้วยความเศร้า แต่ก็เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า “คนเราไม่สามารถหลีกหนีรากเหง้าของตนเองได้  แต่สามารถทำให้รากเหง้านั้นเจริญงอกงามอย่างสมบูรณ์ได้”

 

เอกชัย ศรีวิชัย และ ภาคภูมิ วงษ์จินดา (ผู้กำกับ). (2559). เทริด [ภาพยนตร์]. แม่ เรียงฟิล์ม, บริษัท ภาคภูมิใจ จำกัด.

แชร์ 2364 ผู้ชม

ภาษาและวรรณกรรม

องค์ความรู้